“Where words fail, music speaks”

“Where words fail, music speaks”
(Hans Christian Andersen, 1805-1875)

เรื่องโดย รักรวี รักใหม่ นักศึกษาปริญญาโทสาขาดนตรีบำบัด ที่ University of Arts Berlin เยอรมนี

รูปโดย พัสกร ชุมศิลป์ศิริ

หลายครั้งที่เราได้ยินเสียงดนตรีและทำให้หวนนึกถึงเหตุการณ์ หรือ ช่วงเวลาต่างๆในชีวิต จนบางครั้งทำให้เราเผลอยิ้ม หัวเราะ หรือร้องไห้ออกมาโดยไม่รู้ตัว นั่นคือความมหัศจรรย์ของดนตรีที่สามารถฝังลึกเข้าไปถึงจิตใต้สำนึกของเราได้ ดนตรีไม่เพียงสร้างความไพเราะ แต่ยังสามารถสร้างอารมณ์ร่วมกับประสบการณ์ของเรา เรื่องบางเรื่อง อารมณ์บางอารมณ์ และเหตุการณ์บางอย่างอาจไม่สามารถที่จะอธิบายเป็นคำพูดได้ 

แล้วจะเป็นอย่างไรถ้าหากเราลองเปลี่ยนจากการใช้คำพูดมาเป็นเสียงดนตรีใน การสื่อสารอารมณ์แทน? 

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “ดนตรีบำบัด” มาไม่มากก็น้อย แต่ดนตรีบำบัดนั้นคือ อะไร และ วิธีการของดนตรีบำบัดนั้นเป็นอย่างไร ในฐานะนักศึกษาปริญญาโทสาขาดนตรีบำบัด ที่ University of Arts Berlin ประเทศเยอรมนีเลยอยากมาถ่ายทอดบางแง่มุมให้ทุกคนได้อ่าน 

อาจารย์มักจะพูดในคลาสเรียนเสมอว่า ถ้าพูดถึงศาสตร์ของดนตรีบำบัดนั้นอาจจะแบ่งได้ออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ Music as Therapy และ Music in Therapy 

Music as Therapy หมายถึง การใช้ดนตรีเพื่อการบำบัด นักดนตรีบำบัดจะพิจารณาและนำองค์ ประกอบต่างๆ ของดนตรีมาใช้ในการบำบัดคนไข้ เช่น การใช้เสียงสูง หรือ ต่ำ, จังหวะเร็ว หรือ ช้า, การใช้ทำนองและองค์ประกอบทางดนตรีอื่นๆ เพื่อให้ส่งผลต่อการรักษามากที่สุด หรือรวมไปถึงการ พัฒนาระบบประสาทสัมผัสส่วนต่างๆ ผ่านการเล่นดนตรี 

แต่ส่วนมาก รูปแบบของดนตรีบำบัดที่เป็นที่นิยมในประเทศเยอรมนี คือ Music in Therapy ซึ่งเป็นการนำดนตรีมาเป็นส่วนหนึ่งของการบำบัด วิธีการบำบัดแบบนี้จะค่อนข้างแตกต่างจากแบบแรกโดยสิ้นเชิง เนื่องจากนักดนตรีบำบัดจะใช้ดนตรี เป็นเครื่องมือในการสื่อการกับคนไข้ โดยจุดสนใจหลักของชั่วโมงบำบัดไม่ได้อยู่ที่การปรับแต่งเพลง เพื่อใ้ห้ได้ผลลัพท์ที่เฉพาะเจาะจง แต่เป็นจะการสร้างความสัมพันธ์และถ่ายทอดอารมณ์ระหว่างคนไข้และนักบำบัดมากกว่า 

ผู้เข้ารับการบำบัดอาจจะมีส่วนร่วมในการเล่นดนตรีโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีความรู้เบื้องต้นทางด้านดนตรี (Active Musictherapy) หรือ การให้ผู้เข้ารับการบำบัดฟังดนตรีและถ่ายทอดอารมณ์ออกมา (Receptive Musictherapy) หลังจากนั้น นักดนตรีบำบัดจะพูดคุยและถามความรู้สึกหรือการรับรู้ของคนไข้ที่เกิดขึ้นในระหว่างที่เล่นหรือฟังดนตรี เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดของคนไข้และนำสิ่งเหล่านั้นมาพัฒนาสู่กระบวนการบำบัด 

แต่การจะสะท้อนความคิด ความรู้สึกผ่านดนตรี เพื่อนำไปสู่กระบวนการบำบัดเป็นอย่างไร?

มีเหตุการณ์ครั้งหนึ่ง ตอนไปฝึกงานที่แผนกดนตรีบำบัดของโรงพยาบาลจิตเวชแห่งหนึ่งใน ประเทศเยอรมันนี ในห้องดนตรีบำบัดที่เต็มไปด้วยเครื่องดนตรีหลากหลายชนิด ทั้งเปียโน กีต้าร์ ไซโลโฟน ดับเบิ้ลเบส กลอง เครื่องเคาะจังหวะต่างๆ ฯลฯ มีเก้าอี้ที่ล้อมเป็นวงกลมรอให้คนไข้เข้าสู่ชั่วโมงดนตรี บำบัดแบบกลุ่ม คนไข้แต่ละคนเริ่มทยอยเข้ามาในห้อง หลายคนหันมาทักทายเราและพูดคุยกันด้วยท่าทีที่ดูเป็นปกติ เมื่อพร้อมแล้วนักดนตรีบำบัดก็เริ่มต้นด้วยการทักทายและพูดคุยถึงอารมณ์ของคนไข้แต่ละคนในวันนั้น เมื่อพูดคุยกันครบทุกคนแล้ว นักบำบัดก็อธิบายถึงการเล่นดนตรีโดยใช้การ Improvise ซึ่งหัวข้อในวันนั้นคือ “สายน้ำ” โดยให้คนไข้จินตการถึงสายน้ำและถ่ายทอดสายน้ำนี้ ผ่านเสียงดนตรีไปพร้อมกัน คนไข้ทุกคนลุกขึ้นไปเลือกเครื่องดนตรีที่คิดว่าเหมาะสำหรับหัวข้อนี้ และ เมื่อทุกคนพร้อม การ Improvisation ก็เริ่มต้นขึ้น เสียงเครื่องดนตรีค่อยๆ ดังขึ้นทีละชิ้น สายน้ำ ค่อยๆ เริ่มไหลไป ในระหว่างที่เล่น ตัวเราก็เริ่มรู้สึกว่าสายธารนี้มันเริ่มวนเวียน และน้ำก็ดูขุ่น มัว ไม่ได้ทำรู้สึกสดชื่นดั่งที่สายน้ำควรจะเป็น ยิ่งเวลาดำเนินไปนานเท่าไหร่ เสียงดนตรีที่ถ่ายทอดแทน สายน้ำก็ยิ่งทำให้รู้สึกถึงความอ้างว้าง ขุ่นมัว และดูเหมือนจะหาทางออกไม่เจอ จนเสียงของเครื่อง ดนตรีค่อยๆเงียบลงไปทีละชิ้น ความรู้สึกอึดอัดนี้มันหนักอึ้งอยู่ในอก ความหดหู่ที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนจะจมน้ำแทนที่จะไหลตามสายน้ำนั้นไป 

นักบำบัดเริ่มพูดคุยกับคนไข้ทีละคนเพื่อถามถึงความรู้สึกระหว่างเล่นดนตรีและความรู้สึกที่มีต่อสายน้ำที่เขาถ่ายทอดผ่านเสียงดนตรี คนไข้แต่ละคนมีสีหน้าที่แตกต่างจากตอนต้นชั่วโมงไปโดยสิ้นเชิง บางคนเริ่มพูดถึงความรู้สึกเศร้าของตัวเอง บางคนเริ่มร้องไห้ มีคนไข้คนนึงพูดว่า เขารู้สึกว่าสายน้ำของเขาไหลสวนทางกับสายน้ำของคนอื่นๆ เหมือนกับชีวิตของเขา บุคลิก ของเขาที่อาจจะแตกต่างจากคนในสังคมส่วนมาก มันทำเขารู้สึกอึดอัดและไม่รู้จะถ่ายทอดความรู้สึกนี้ออกมาอย่างไร คนไข้อีกคนพูดถึงชีวิต ณ ปัจจุบันกับโรคทางจิตเวชที่เขาเป็น ความสับสนทางอารมณ์ของเขาและเขาก็ไม่รู้จะหาทางออกจากความสับสนนี้ได้อย่างไร 

ในระหว่างที่นั่งฟังการสะท้อนความคิดของคนไข้แต่ละคน ทำให้เราเข้าใจถึงความรู้สึกขุ่นมัวของสายน้ำที่คนไข้ได้ถ่ายทอดผ่านเสียงดนตรีออกมา ในระหว่างการพูดคุย นักดนตรีบำบัดไม่ได้ตั้งคำถามเพื่อเป็นการชี้นำทางอารมณ์หรือ หาวิธีการแก้ปัญหาให้กับผู้ป่วย แต่เป็นการตั้งคำถามเพื่อให้ผู้ป่วยมองย้อนกลับไปสำรวจความคิด และอารมณ์ของตัวเอง 

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนจะเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นว่าหน้าที่ของดนตรีและนักดนตรีบำบัด จริงๆ แล้วอาจจะเปรียบเหมือน ตัวช่วยในการหากุญแจเพื่อนำไปการปลดล็อคปมปัญหา โดยผู้ป่วยจะต้องเป็นคนเลือกกุญแจเหล่านั้นด้วยตนเอง นักบำบัดจะมีหน้าที่คอยสังเกตพฤติกรรมและอารมณ์ของคนไข้ด้วยการใช้ดนตรีเป็นสื่อกลาง แล้วนำสิ่งที่ได้จากการถ่ายทอดผ่านดนตรีมาตีความ ตั้งคำถาม หรือสะท้อนเพื่อให้คนไข้นำสิ่งเหล่านั้นไปต่อยอดเป็นคำถามของตัวเองหรือนำไปตกตะกอนทางความคิดเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง 

การเปลี่ยนจากการใช้คำพูดเป็นเสียงดนตรีในการสะท้อนความคิดและความรู้สึก สามารถช่วยให้คนเราเข้าถึงจิตใจของตัวเองได้ง่ายกว่าการเรียบเรียงออกมาเป็นคำพูด เพราะการใช้คำพูดในการ อธิบายมักจะต้องกลั่นกรองผ่านกระบวนการทางความคิดเพื่อเรียบเรียงคำพูดเหล่านั้นให้ออกมา เป็นการสื่อสารที่ดีที่สุด แต่ในทางกลับกัน ดนตรีจะดึงจิตใต้สำนึกของคนเราออกมาโดยที่ตัวเราเองก็อาจจะไม่ทันรู้ตัว ทำให้สิ่งที่สะท้อนออกมานั้นเป็นความรู้สึกที่มาจากเนื้อแท้โดยปราศจากการปรุงแต่งใดๆ 


อ้างอิง

Eschen, J. T. (2009) “Akitve Musiktherapie,” in Decker-Voigt, H.-H. and Weymann, E. (eds.) Lexikon Musiktherapie. Hogrefe, pp. 9–10.

Frohne-Hagemann, I. (2009) “Rezepitve Musiktherapie,” in Decker-Voigt, H.-H. and Weymann, E. (eds.) Lexikon Musiktherapie. Hogrefe, pp. 411–415.

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า